คนธรรมดาทั่วไปก็สามารถกลายเป็นคนที่น่านับถือได้ หากคุณมีจิตตั้งอยู่ในศีลในธรรม ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม อย่างคุณแม่บุญเรือนที่ในอดีตเป็นฆราวาสธรรมดาทั่วไปที่สนใจในพระธรรม จนสุดท้ายบวชเป็นแม่ชีและจากโลกใบนี้ไปในฐานะบุคคลผู้น่าเลื่อมใส ใครที่เป็นสายมู ชื่นชอบการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์น่าจะเคยได้ยินชื่อเสียงของแม่ชีผู้นี้มาบ้างแล้ว วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับท่านให้มากขึ้น
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ประวัติความเป็นมาของคุณแม่บุญเรือน แม่ชีผู้เป็นต้นแบบของการวิปัสสนากรรมฐาน
คุณแม่บุญเรือน กลิ่นผกา เป็นแม่ชีที่ได้รับการเคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชน ในฐานะต้นแบบของผู้ที่ปฏิบัติตนในศีลในธรรมและวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง โดยคุณแม่เกิดเมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย หรือวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2437
ครอบครัวของคุณแม่มีฐานะยากจน บิดาชื่อ นายยิ้ม และมารดาชื่อ นางสวน อาศัยอยู่แถวคลองสามวา อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่บางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี
สมัยยังเด็ก คุณแม่บุญเรือนได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักและทะนุถนอมจากบิดามารดา แม้ว่าฐานะอาจไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ได้รับการศึกษาภาษาไทยจนอ่านออกเขียนได้ และยังได้รับการฝึกวิชาความรู้จนกลายเป็นหญิงผู้รอบรู้ เป็นแม่ศรีเรือนที่มีความสามารถในการดูแลบ้านเป็นอย่างดี รสมืออร่อย ทำกับข้าวได้หลากหลายเมนู
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีความสามารถในการเย็บปักถักร้อย สามารถตัดเย็บเสื้อผ้าได้เหมือนกับช่างตัดเสื้อ เมื่ออายุครบ 15 ปี ก็ได้รับวิชาการนวดจากคนในครอบครัว และคุณแม่ก็ให้ความสนใจวิชาการนวดเป็นอย่างมาก จนสุดท้ายก็สามารถศึกษาและขัดเกลาฝีมือ จนกลายเป็นหมอนวดที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง
จุดเริ่มต้นเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของคุณแม่บุญเรือน
เมื่อเติบโตจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คุณแม่บุญเรือนก็ได้รู้จักกับคุณลุงของตนที่มีชื่อว่า หลวงตาพริ้ง เป็นพระภิกษุที่บวชอยู่ในวัดบางปะกอก เนื่องจากคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จึงมีการนำเอาอาหารไปถวายอยู่เป็นประจำ และได้รับการสั่งสอนจากหลวงตา ให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณธรรมและธรรมะสำหรับการดำเนินชีวิต
เมื่อได้ซึมซับพระธรรมคำสอน คุณแม่บุญเรือนก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ได้ร่วมงานบุญงานกุศลมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่ได้บวชชีในเวลานั้นแต่อย่างใด หลังจากอายุสมควรแก่การสมรส คุณแม่ก็ได้สมรสกับ ส.ต.ท.จ้อย ตรงบุญเติม ตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลสัมพันธวงศ์
จากนั้นก็อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด แต่ทั้งคู่ไม่ได้มีบุตรด้วยกันแต่อย่างใด คุณแม่จึงรับอุปการะเด็กหญิงเด็กชายจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
ขณะที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับสามี คุณแม่ยังคงไม่ทิ้งความเลื่อมใสในศาสนา หมั่นไปสวดมนต์ฟังธรรมที่วัดอยู่เป็นประจำ และยังมีโอกาสได้นั่งวิปัสสนากรรมฐานที่วัดอีกด้วย จนกระทั่งสามีลาอุปสมบท ยิ่งทำให้คุณแม่บุญเรือนใกล้ชิดในพุทธศาสนามากขึ้นกว่าเดิม เมื่อสามีสึกออกมา คุณแม่จึงลาบวชเป็นแม่ชีเพื่อปฏิบัติธรรมที่วัดสัมพันธวงศ์ จนเข้าใจในพระธรรมและรู้แจ้งในธรรมะในที่สุด
ในปี 2479 ขณะที่คุณแม่มีอายุได้เพียง 42 ปี สามีก็ถึงแก่กรรมจากการเข้าไปช่วยระงับเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดน้อย คุณแม่จึงครองความเป็นโสดและใช้นามสกุลเดิมของสามีมาโดยตลอด ทั้งยังร่วมงานบุญไม่ขาด รับรักษาโรคให้กับผู้คนในฐานะหมอนวดโดยไม่คิดเงิน
ทำให้แม่ชีกลายเป็นพี่เคารพเลื่อมใสของผู้คนในละแวกชุมชนเดียวกัน จนกลายมาเป็นต้นแบบของบุคคลที่เลื่อมใสในศาสนาและปฏิบัติอย่างจริงจังจนรู้แจ้งนั่นเอง
ขอพรคุณแม่บุญเรืองวัดสัมพันธวงศ์ สัมผัสวิถีชีวิตของแม่ชีในพิพิธภัณฑ์ทรงคุณค่า
สายมูคนไหนที่อยากเดินทางไปขอพรคุณแม่บุญเรือง ให้เดินทางไปที่วัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้บวชชีอยู่และมีการสร้างพิพิธภัณฑ์คุณแม่บุญเรือนขึ้นมา มีการเก็บรักษาวัตถุมงคลและสิ่งของสมัยที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ พิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไทย 2 ชั้นและเป็นที่ตั้งรูปจำลองขนาดเท่าตัวจริงของคุณแม่ด้วย
สำหรับใครที่อยากขอพรให้ได้ผล ให้ไปยังห้องพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรูปปั้นของคุณแม่ ซึ่งอยู่ตรงด้านหน้าพระพุทโธคลัง เริ่มต้นจากการกราบบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นนำเอาธนบัตร 3 ใบจำนวนกี่บาทก็ได้ หันหน้าเข้าหารูปปั้นคุณแม่ จะมีโหลสีเขียวอ่อนตั้งอยู่สองฝั่งซ้ายและขวา ส่วนตรงกลางจะมีพานทองวางอยู่
ให้เรานำเอาปัจจัยมาขอพร โดยให้ขอพรเพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้น เริ่มต้นจากโหลด้านซ้าย ขอพรสิ่งที่ต้องการ หย่อนธนบัตรลงไป ส่วนธนบัตรใบที่ 2 ให้วางเอาไว้บนพานครูแล้วขอพรเรื่องเดิมอีกครั้ง จากนั้นมายังโหลทางขวาขอพรตามเดิมแล้วหย่อนธนบัตรใบที่ 3 ลงไป ก็จะเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีขอพร
แต่สำหรับใครที่อยากบนบานศาลกล่าว ให้บนด้วยกล้วยน้ำว้า ว่ากันว่าคุณจะได้ในสิ่งที่ต้องการตามความปรารถนา จะแก้บนด้วยกล้วยน้ำว้าจำนวนกี่หวีก็ได้แล้วแต่กำลังศรัทธา แต่จะต้องสวดบทสำหรับการบนโดยเฉพาะ ใครที่สนใจก็ให้แจ้งผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ผู้ดูแลก็จะเป็นผู้นำสวดให้กับเรา
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Good Horo