หลายคนอาจคุ้นเคยกับการไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ แต่เมื่อพูดถึงการไหว้กลางบ้าน เชื่อว่าบางคนอาจไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไป ความจริงแล้วมันเป็นพิธีกรรมที่คนไทยมักทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนักเมื่อเทียบกับการไหว้ศาลพระภูมิ ทั้งที่ความจริงแล้วมันช่วยเสริมความเป็นสิริมงคล แถมยังสามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านของเราได้เป็นอย่างดี เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า พิธีกรรมนี้คืออะไรกันแน่ วันนี้เรามีคำตอบมาให้กับทุกคน ไปติดตามพร้อมกันได้เลย
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ไหว้กลางบ้าน เคล็ดลับการขอขมา เรียกโชคลาภ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย
ไหว้กลางบ้าน แตกต่างจากการไหว้ศาลพระภูมิซึ่งเป็นศาลที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน เพราะพิธีกรรมนี้เป็นการไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ไม่ได้เป็นการไหว้พระภูมิ ซึ่งการไหว้เจ้าที่นี้จะต้องทำการไหว้ที่บริเวณกลางบ้าน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อดวงวิญญาณที่อยู่ในบ้านของเราบางคนก็ไหว้เพื่อขอขมาและให้วิญญาณผู้ปกปักรักษาบ้านของเรานั้นเกิดความเมตตา บ้างก็ไหว้เพื่อขออโหสิกรรมกับบางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
เป็นความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมาว่า การไหว้กลางบ้านจะช่วยเสริมพลังให้กับเจ้าที่ สามารถผ่อนเรื่องร้านให้กลายเป็นเบาได้ ช่วยเปิดทางให้สิ่งดี ๆ เข้ามา เสริมโชคลาภบารมี มีโอกาสทำมาหากินเข้ามาในชีวิตมากขึ้น
เพราะฉะนั้น พิธีกรรมนี้จึงมีลักษณะและวัตถุประสงค์ที่ใกล้เคียงกับการไหว้ศาลพระภูมิ เพียงแต่เป็นการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกัน ลักษณะและรูปแบบการไหว้จึงไม่เหมือนกัน สำหรับใครที่ยังไม่เคยไหว้กลางบ้านมาก่อน เราจะพาไปดูกันว่ามีของอะไรที่ต้องใช้ วันเวลาไหนที่เหมาะสม และมีวิธีการว่าอย่างไรบ้าง ดังนี้
สิ่งที่ต้องใช้ในการไหว้กลางบ้าน
ของที่ใช้ในการไหว้สามารถจัดหาทั้งหมดตามที่เราแนะนำก็ได้ หรือจะใช้เพียงแค่ของที่เราสามารถหาได้ก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเน้นเรื่องความศรัทธาและความตั้งใจของเราเป็นหลัก ถึงจะสามารถเสริมให้ดวงชะตาดีขึ้นได้ โดยสิ่งที่จะต้องเตรียมประกอบไปด้วย
- ธูป จำนวน 5 ดอก
- เทียน จำนวน 2 เล่ม
- น้ำเปล่าหรือน้ำชา จำนวน 5 แก้ว
- ดอกดาวเรือง จำนวน 9 ดอก
- หมากพลู จำนวน 9 คำ
- ผ้าขาวบาง จำนวน 1 ผืน
- ผลไม้มงคล จำนวน 9 ชนิด สามารถเลือกผลไม้ได้ตามสะดวก ขอให้มีความหมายที่เป็นสิริมงคล สามารถเสริมดวงของเราได้ อย่างเช่น ส้ม องุ่นแดง แอปเปิลแดง สาลี่ แก้วมังกร ทับทิม หรือกล้วย เป็นต้น
วันและเวลาที่เหมาะสมในการไหว้
วันเวลาที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับการไหว้กลางบ้าน จะเป็นตอนกลางวันของวันเสาร์หรือวันอังคารก็ได้ สามารถไหว้ได้เป็นประจำทุกเดือน แต่ให้ยกเว้นเฉพาะเดือนเมษายนและตุลาคม เนื่องจากช่วงเดือนเมษายนเป็นเดือนร้อนที่ไม่นิยมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์
ส่วนในเดือนตุลาคมเป็นเดือนปล่อยผีที่จะมีสัมภเวสีมาขอส่วนบุญ สำหรับระยะเวลาการไหว้ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องไหว้เป็นประจำทุกเดือนหรือทุกวัน สามารถเลือกไหว้ได้ตามความสะดวก แต่ปกติแล้วจะไหว้กันเป็นประจำทุก 3-6 เดือน
วิธีการไหว้กลางบ้าน
การไหว้กลางบ้านเป็นพิธีกรรมที่ง่ายและไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เริ่มจากการนำเอาผ้าขาวมาปูโต๊ะสำหรับการวางของไหว้ จากนั้นก็เอาของที่เราเตรียมไว้มาจัดใส่ถาด จาน พาน หรือภาชนะอะไรก็ได้ เสร็จแล้วจุดธูปเทียนก่อนจะกล่าวคำขอขมา โดยให้กล่าวว่า
ข้าแต่เจ้าที่เจ้าทาง ผู้เป็นเจ้าของที่ เจ้าของบ้านเรือน บ้านเลขที่ … หลังนี้ ข้าพเจ้า … นำเอาเครื่องสักการะบูชามาถวายเพื่อขอขมา หากสิ่งใดที่ทำผิดไปทั้งตัวก็ดี ทั้งใจก็ดี ที่ตั้งใจก็ดี ไม่ตั้งใจก็ดี ข้าพเจ้าขออโหสิกรรม ขอจงโปรดงดเว้นโทษ อโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าอยู่ที่บ้านเลขที่ … หลังนี้
จากนั้นก็สามารถขอพรได้ตามความต้องการ เสร็จแล้วก็รอจนธูปหมดดอก ให้เราดับเทียน นำเอามือไปจับที่ภาชนะใส่ของแล้วกล่าวคำลาว่า ขอแดนขอชานให้ลูกให้หลานกิน เพื่อความเป็นสิริมงคล เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรมการไหว้กลางบ้าน
ความแตกต่างระหว่างพระภูมิและเจ้าที่ ทำไมเราถึงต้องไหว้กลางบ้าน
เชื่อว่าสิ่งที่หลายคนน่าจะสงสัยมากที่สุดเกี่ยวกับการไหว้กลางบ้านก็คือ มันแตกต่างจากการไหว้ศาลพระภูมิอย่างไร และมันจะส่งผลต่อดวงชะตาของเราในแง่ไหนบ้าง ความจริงแล้วต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทั้งพระภูมิและเจ้าที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เหมือนกัน อาศัยอยู่ต่างที่กัน แต่มีหน้าที่เหมือนกันคือ ทำหน้าที่ในการดูแลบ้านเรือนและคุ้มครองสมาชิกภายในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข นำพาชีวิตของเราให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและมีความเป็นสิริมงคล สำหรับความแตกต่างระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองคือ
- พระภูมิ จัดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกลุ่มเทพเทวดาอารักษ์ ถือเป็นวิญญาณชั้นสูงที่เราเป็นคนอัญเชิญให้เข้ามาปกปักรักษาบ้านของเรา ช่วยดูแลคนในครอบครัวให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เราจึงต้องมีการตั้งศาลพระภูมิเอาไว้บริเวณหน้าบ้าน มักจะเป็นศาลที่ตั้งอยู่บนเสาต้นเดียว และอยู่สูงกว่าศาลของเจ้าที่
- เจ้าที่ เป็นดวงวิญญาณของผู้เป็นเจ้าของที่ดินเก่า หรือเป็นบรรพบุรุษของเราที่เคยอาศัยอยู่ตรงนี้มาก่อน บ้านบางหลังก็อาจจะมีการตั้งศาลเจ้าที่เอาไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นศาล 4 เสาขนาดเล็กและต่ำกว่าศาลพระภูมิ บ้างก็เรียกศาลเจ้าที่ บ้างก็เรียกศาลตายาย บางคนที่ไม่มีศาลให้ก็จะถือว่าเจ้าที่อาศัยอยู่ในบ้าน เราจึงสามารถจัดพิธีไหว้บริเวณกลางบ้านได้นั่นเอง นอกจากนี้เจ้าที่ก็ไม่ต้องอัญเชิญให้เข้ามาอยู่ในบ้าน เพราะพวกเขาอยู่ที่นี่มาก่อนเราแล้วนั่นเอง
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Good Horo