เซียมซี การเสี่ยงใบบอกทางจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำทำนายที่แฝงคติสอนใจ

เซียมซี

เซียมซี วัฒนธรรมจีนที่ถูกเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และคงต้องยอมรับว่า คงไม่มีใครที่ไม่เคยเสี่ยงทายด้วยวิธีการนี้มาก่อน วันนี้เราจะพาทุกคนมาดูกันว่า ไม้ติ้วที่เราใช้ในการเสี่ยงทายนี้มีความเป็นมาอย่างไรและมีความหมายอะไรที่ซุกซ่อนอยู่บ้าง ไปติดตามพร้อมกันได้เลย

ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ประวัติความเป็นมาของเซียมซี

เซียมซี

เซียมซี เป็นชื่อเรียกของกระบอกไม้ไผ่ที่ภายในบรรจุแท่งไม้ บนแท่งไม้จะมีสัญลักษณ์เป็นตัวเลขที่แตกต่างกันออกไป วิธีการใช้คือหยิบกระบอกไม้ไผ่ขึ้นมาเขย่าจนกว่าไม้ข้างในจะตกลงมาจำนวน 1 แท่ง จากนั้นเราก็ดูหมายเลขที่อยู่บนไม้นั้นว่าเป็นหมายเลขอะไรแล้วไปอ่านคำทำนายตามหมายเลขนั้น หากได้คำทำนายที่ดีก็ให้เก็บใบคำทำนายนั้นเอาไว้กับตัว และหากได้คำทำนายที่ไม่ดีให้เอาใบไปเก็บไว้ที่เดิม

ความหมายของคำว่า “เซียมซี” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า ใบทำนายถึงโชคชะตาตามวัดหรือศาลเจ้า มีหมายเลขเทียบกับหมายเลขบนแท่งไม้ที่เราเสี่ยงได้ สำหรับความหมายในภาษาจีนนั้น คำว่า “เซียม” หมายถึง กระดาษแผ่นเล็กใบยาว ๆ ส่วนคำว่า “ซี” หมายถึง บทกลอนที่บ่งบอกว่าดวงชะตาของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต

ในบางแหล่งที่มาได้ระบุว่า คำว่า “เซียมซี” เพี้ยนมาจากคำว่า “เซียนซือ” มีความหมายถึง “ผู้ที่มาพร้อมความสามารถเหนือมนุษย์หรือมีอิทธิฤทธิ์” ในขณะที่บางแหล่งที่มาก็ระบุว่าคนก็มองว่า คำว่า “เซียม” มีความหมายถึง “ไม้เสี่ยงทาย” และคำว่า “ซี” หมายถึง “โคลงที่ถูกเขียนเอาไว้บนไม้” แต่ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ คือ วิธีการทำนายถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากประเทศจีนนั่นเอง

การแพร่กระจายของเซียมซีเข้าสู่ประเทศไทย

เซียมซี

เนื่องจากเซียมซีมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมมันจึงกลายมาเป็นเครื่องมือทำนายดวงที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย ถึงขั้นที่แทบทุกวัดจะต้องมีจุดให้เราสามารถไปเสี่ยงทายดวงด้วยวิธีการนี้กันเลยทีเดียว

มีการคาดการณ์กันว่า วัฒนธรรมนี้ได้ติดตัวชาวจีนอพยพที่เดินทางจากแผ่นดินใหญ่มายังประเทศไทย ซึ่งเซียมซีเกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกที่ศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยวในจังหวัดปัตตานี ศาลเจ้าที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2116 แรกเริ่มคำทำนายจะถูกเขียนเป็นภาษาจีน หากคนไทยไปเสี่ยงดวงก็จะต้องให้ผู้รู้ทำหน้าที่แปลความหมายให้

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่กล่าวถึงการเสี่ยงดวงในลักษณะดังกล่าวในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย โดยมีคนแปลคำทำนายจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย บุคคลคนนั้นมีชื่อว่า นายเปลี่ยน แซ่ส่อง หลังจากแปลคำทำนายแล้วก็ได้มีการพิมพ์เพื่อถวายให้กับวัด

ต่อมาได้ทราบว่าวัดทำการจำหน่ายคำแปลให้กับคนที่มาเสี่ยงดวง นายเปลี่ยนจึงได้เขียนคำทำนายเป็นภาษาไทยไว้บนกระจกใสให้ครบหมายเลขทั้ง 28 หมายเลข ผู้ที่มาเสี่ยงเซียมซีจะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อคำแปล คำแปลที่ได้นั้นเป็นกลอนที่มีความสวยงามและถูกส่งต่อมาตามกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน ผ่านการดัดแปลงบ้างเพื่อให้เข้าตามยุคสมัย คำทำนายที่เราเห็นในยุคนี้จึงอาจจะไม่ใช่คำทำนายดั้งเดิมที่นายเปลี่ยนเป็นผู้แปล ตั้งแต่เมื่อนับร้อยปีก่อนนั่นเอง

เปิดความหมายเบื้องลึกที่ซุกซ่อนอยู่ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

เซียมซี

เซียมซีเป็นทำนายอนาคตที่ใช้ง่าย เข้าใจง่าย สามารถใช้ได้ทุกเพศทุกวัย หลายคนจึงอาจจะยังไม่ทราบว่าความจริงแล้ว วิธีการดูดวงในลักษณะดังกล่าวมีความหมายที่ลึกซึ้งซุกซ่อนอยู่ด้วย ซึ่งความหมายเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาให้

ไม้ติ้ว

แท่งไม้ที่ทำมาจากไม้ไผ่ ตรงปลายมักถูกแกะสลักให้มีลวดลายสวยงาม ย้อมเป็นสีแดง และเขียนหมายเลขสีขาวลงไป ไม้ดังกล่าวมักมีความยาวไม่เกิน 1 ฟุต โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีทั้งหมด 28 แท่ง 28 ตัวเลข ก่อนที่จะเสี่ยงดวงควรตั้งจิตอธิษฐาน ด้วยการยกกระบอกไม้ไผ่ขึ้นมาจรดหน้าผาก จากนั้นจึงค่อยเขย่ากระบอกเพื่อให้ไม้หล่นลงมาจำนวน 1 อัน

เลข 28

สงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมเซียมซีจึงจำกัดไว้ที่ตัวเลข 28 ตัวเท่านั้น คำตอบก็คือ เลข 28 มาจากทิศที่มีทั้งหมด 4 ทิศ และมีดวงดาวบริวารอยู่ทั้งหมด 7 กลุ่ม เมื่อเรานำเอาเลข 4 มาคูณเข้ากับเลข 7 ก็จะได้เป็นผลรวมเท่ากับ 28 นั่นเอง เป็นเรื่องราวที่ชาวจีนเชื่อกันและได้รับการส่งต่อมายังประเทศไทย

เซียมซี

กลอนสุภาพ

เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้หลายคนรู้สึกสับสนงงงวย เมื่อเสี่ยงเซียมซีแล้วต้องอ่านคำพยากรณ์เป็นบทกลอน เพราะถึงจะเป็นภาษาไทย แต่ก็ยังต้องอาศัยการตีความอยู่ดี สาเหตุก็เป็นเพราะว่า บุคคลที่แปลคำทำนายคนแรกอย่างนายเปลี่ยน เริ่มต้นแปลด้วยการใช้คำกลอนให้ดูสวยงาม ถึงแม้ว่าจะตีความยากไปหน่อย แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันคือเสน่ห์ของวิธีการดูดวงในรูปแบบดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ไม้ปวย

การเสี่ยงเซียมซี ไม่ได้มีเฉพาะแบบที่เป็นกระบอกไม้ไผ่และไม้ติ้วเท่านั้น แต่หากใครเคยเดินทางไปวัดจีนทั้งในไทยและต่างประเทศมาก่อน คงเคยเห็นคนเสี่ยงทายด้วยไม้ปวยมาบ้าง  มันเป็นไม้ที่ถูกแกะสลักขึ้นเป็นรูปทรงนูนโค้งคล้ายกับพระจันทร์เสี้ยว 2 อันที่สามารถประกบเข้าด้วยกันได้อย่างพอดี

ปกติแล้วเราจะใช้ไม้ปวยหลังจากที่เราเสี่ยงเซียมซีมาแล้ว เพื่อเป็นการถามย้ำว่า หมายเลขที่เราได้รับมานั้นเป็นหมายเลขที่ถูกต้องและใช่ของเราจริงหรือไม่ เวลาเสี่ยงดวงให้โยนไม้ปวยขึ้นแล้วปล่อยให้ตกลงบนพื้น ส่วนวิธีการอ่านความหมายมีดังนี้

  • คว่ำคู่ หมายความว่า ไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง ให้ไปเสี่ยงดวงใหม่ได้เลย
  • หงายคู่ หมายความว่า ไม่มีความคิดเห็น แล้วแต่เราจะตัดสินใจเอาเอง โดยปกติแล้วถ้าได้แบบหงายทั้งคู่คนก็มักจะไปเสี่ยงดวงใหม่กันมากกว่า
  • คว่ำหงาย หมายความว่าใช่ ถูกต้อง ไม่ต้องเสี่ยงดวงใหม่อีกรอบ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Good Horo

Scroll to Top